พนักงานนั้น นอกจากจะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้ ในอีกมุมหนึ่งพนักงานก็เปรียบเสมือนทุนมนุษย์ขององค์กร ที่องค์กรจะต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนาต่อยอดให้ตรงจุดและเหมาะสมกับต้นทุนศักยภาพที่มีของพนักงานแต่ละคน เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าและใช้ทุนมนุษย์ที่มีสร้างสรรค์คุณค่าสูงสุดให้กับองค์กรได้
โดยการพัฒนาบุคลากรนั้น ปัจจัยแรกที่ผู้บริหารองค์กรต้องมองคือ มองว่างบประมาณของการพัฒนาบุคลากรไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่เป็นงบเพื่อการลงทุน การพัฒนาบุคลากรจึงควรให้ความสำคัญว่า ทีมงานที่มีอยู่มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด คือ ควรมองหาพรสวรรค์ (Talent) ที่มีในตัวของพนักงาน โดยสังเกตง่าย ๆ ได้จากพฤติกรรม ความรู้สึก หรือความคิดที่เกิดการกระทำซ้ำ ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นและนำมาฝึกฝน พัฒนาให้เชี่ยวชาญจนกลายเป็นจุดแข็ง (Strength) นำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพเป็นเลิศอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งพรสวรรค์อาจะเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ถูกมองว่าไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่หากได้ฝึกฝนอย่างจริงจังและตั้งใจก็จะสามารถพัฒนาเป็นจุดแข็งที่นำไปสู่ความเป็นเลิศได้
ดร.โดนัลด์ โอ คลิฟตัน (Donald O. Clifton) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์พรสวรรค์เพื่อยกระดับพัฒนาเป็นจุดแข็งของมนุษย์ ที่แบ่งพรสวรรค์ออกเป็น 34 คุณสมบัติ และตั้งชื่อให้กับลักษณะพรสวรรค์เหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการประเมินผล Clifton Strength Finder โดยจะแบ่งเป็นหมวด (Domain)ทั้งหมด 4 หมวด คือ
1. หมวดการปฏิบัติ (Executing)
2. หมวดการจูงใจ (Influencing)
3. หมวดการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Building)
4. หมวดการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)
และจากงานวิจัยของ GALLUP พบว่าผู้ที่ใช้จุดแข็งในการทำงานจะมีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่าถึง 6 เท่า และกว่า 37% ที่เห็นด้วยกับการที่หัวหน้ามุ่งเน้นไปที่จุดแข็ง เพราะทำให้การปลดพนักงานลดลงอย่างมาก โดยเหลือเพียง 1% เท่านั้น
ที่มา :https://news.gallup.com/businessjournal/167462/employees-strengths-company-stronger.aspx
เทคนิคในการค้นหาพรสวรรค์ของพนักงาน เป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชา และพนักงานเอง สามารถร่วมกันค้นหาด้วยการสังเกตุ เพื่อนำมาต่อยอดได้อย่างตรงจุดด้วยเทคนิคง่ายๆ 5 ข้อนี้
- สำรวจความสนใจ
สิ่งที่พนักงานมีความ “สนใจ” นำไปสู่ความต้องการที่จะค้นหาข้อมูลอย่างลงลึก หรืออยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นระยะเวลานาน โดยไม่รู้สึกเบื่อ เป็นเรื่องที่เรามักพูดถึง หรือสนใจที่จะลงมือทำบ่อย ๆ โดยเป็นไปอย่างธรรมชาติ จนบางครั้งอาจไม่รู้ตัวว่ามีการทำสิ่งนี้อีกแล้ว ซึ่งอาจให้คนรอบข้างช่วยสังเกตหรือสะท้อนสิ่งที่มองเห็นตัวเราในอีกมุมหนึ่งได้ ก็เป็นจุดเริ่มที่จะบ่งบอกว่าสิ่งนั้นอาจะเป็นพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่
- เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อได้ลงมือทำงาน หรือกิจกรรมใด ๆ ที่ตัวพนักงานสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าใจรายละเอียดต่างๆ รวมถึงภาพรวมได้อย่างง่ายดาย แม้เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยได้ลงมือทำมาก่อน แต่สามารถนำข้อมูลมาคิดต่อยอด มีไอเดียที่จะสร้างสรรค์ต่อหรือลงมือทำ พัฒนาต่อได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง ก็เป็นอีกหนึ่งเบาะแสของพรสวรรค์ที่สามารถสังเกตได้
- รู้ขั้นตอนโดยอัตโนมติ
การที่เราได้ลงมือทำหรือได้รับมอบหมายงานมาจากหัวหน้า แล้วพนักงานสามารถจัดลำดับความคิด บริหารจัดการขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ สามารถประสานงานจัดหาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างคล่องแคล้ว ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ แบบ Smart Working หรือการทำงานอย่างชาญฉฉลาดโดยจัดลำดับความสำคัญของงานตามความเร่งด่วน ความสำคัญ ความยากได้ ถึงแม้ว่างานนั้น จะเป็นงานที่ไม่คุ้นเคย หรือเป็นงานใหม่ อยู่ในบริบทที่ต่างไปจากเดิม
- ความเป็นเลิศ
หากงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ พนักงานสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ โดยผลงานนั้นมีการคิดวางแผนผ่านการไตร่รองอย่างรอบคอบ ลงมือทำโดยสามารถใช้ทักษะที่มีได้ ผลงานที่ออกมาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และสุดท้ายคือสามารถส่งมอบงานได้โดยสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง เมื่อเห็นผลลัพธ์ก็เกิดความรู้สึกแปลกใจ ที่ตนเองนั้นสามารถจัดการงานหรือกิจกรรมนั้นให้ผ่านไปได้ด้วยดี
- ความพึงพอใจกับงาน
เมื่อคุณได้ลงมือทำงานแล้ว คุณรู้สึกพึงพอใจกับงานนั้น สามารถสัมผัสได้ถึงความสุขจากการทำงาน ทั้งขณะทำงานนั้นจวบจนได้ทำงานชิ้นนั้นสำเร็จ และก็มีความรู้สึกรอคอย อยากที่จะได้ทำงานเช่นนั้นอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น ปกติก็จะแค่เก็บรวบรวมข้อมูลแบบ input data แต่เมื่อได้มีโอกาสได้วิเคราะห์ข้อมูล นำเสนอเป็น Executive Summary ก็มีความชอบ อยากได้โอกาสที่จะได้ทำงานแบบนี้อีก เป็นต้น
ในสถานการณ์ที่องค์กรต้องขับเคลื่อนและปรับตัวอย่างรวดเร็ว การที่องค์กรมีพนักงานที่มีศักยภาพและสามารถนำจุดแข็งของตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีความถนัดและความเก่งคนละด้าน ซึ่งทีมมีมีข้อได้เปรียบคือทีมที่มีบุคลากรหลากหลายความสามารถมารวมกัน เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละคนในทีมมาเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน และจัดการจุดด้อยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อการทำงาน จะทำให้องค์กรได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศทั้งด้านผลงานที่สามารถบรรลุเป้าหมาย และทั้งด้านการบริหารจัดการพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีความสุข มีคุณค่า มีความภาคภูมิใจจากการที่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ซึ่งจะขับเคลื่อนองค์กรเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น