เรามักจะได้ยินคำว่าแรงจูงใจ (Motivation) อยู่บ่อยครั้ง และหลายองค์กรก็พยายามสร้างแจงจูงใจในการทำงานให้แก่พนักงานอีกด้วย หากจะพูดถึงคำว่าแรงบันดาลใจให้เข้าใจได้อย่างง่าย กฌสามารถบอกได้ว่าแรงจูงใจก็คือระดับพลังงานภายในตัวเราที่ส่งผลให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำงานอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และกำหนดการแสดงออกของพฤติกรรมลักษณะต่างๆ เช่น องค์กรแห่งหนึ่งสร้างแรงจูงใจด้วยการมอบเงินรางวัลพิเศษให้กับหน่วยงานภายในองค์กรที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรทำให้แต่ละหน่วยงานเกิดความร่วมมือในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู็ภายในทีม รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่จะช่วยต่อยอดความคิด แต่ใรทางกลับกันอีกองค์กรหนึ่งไม่มีการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานเลย ก็ทำให้พนักงานทำงานในหน้าที่แต่ละวันของตนเองไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าการสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้น ส่งผลต่อการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง องค์กรจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้สิ่งที่ควรรู้อีกหนึ่งข้อก็คือ สไตล์การทำงาน ลักษะส่วนบุคคลของพนักงานแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป สิ่งที่จะสามารถสร้าแรงจูงใจให้กับพนักงานนั้นจึงต่างกันออกไปด้วย องค์กรจึงต้องมองหา และคิดสร้างสรรค์แรงจูงใจที่สามารถตอบโจทย์พนักงานที่หลากได้อีกด้วย
สำหรับไอเดียในการสร้างแรงจูงใจนั้น เราอาจมองจากสไตล์การทำงานที่แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้คนสไตล์นักปฏิบัติ
รูปแบบการทำงาน : พนักงานสไตล์นี้เน้นการลงมือปฏิบัติอย่างมั่นใจ คล่องตัว รวดเร็ว ชอบงานที่มีความท้าทายหรืองานที่ต้องริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และเป็นนักแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจ : การมอบโอกาสใหม่ๆ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับองค์กร โดยให้อิสระในการคิดและบริหารจัดการ โดยที่มีผู้คนชื่นชม หรือยอมรับในความคิดเห็น จะทำให้คนสไตล์นักปฏิบัติทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้คนสไตล์นักเจรจา
รูปแบบการทำงาน : การทำงานของคนที่มีสไตล์เป็นนักเจรจาจะเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนให้การช่วยเหลือ ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ รวมถึงคอยสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศทางทำงานที่ดีให้แก่ทีม ด้วยการให้กำลังใจ โน้มน้าว สร้างความร่วมมือ เพราะโดยพื้นฐานเป็นคนที่มีทัศนคติในเชิงบวก และชอบความสำเร็จที่เป็นความสำเร็จร่วมกันของทีม
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจ : การเชิญชวนให้คนสไตล์นักเจรจาเข้าร่วมโครงการพิเศษที่องค์กรจัดขึ้น หรืองานที่ต้องการฝ่ายสนับสนุนในการทำงาน จะทำให้พลังในการทำงานของนักเจรจาเปื่ยมล้นและได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เพื่อช่วยผลักดันให้งานนั้นบรรลุเป้าหมายได้อย่างราบรื่น
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้คนสไตล์นักประสาน
รูปแบบการทำงาน : สไตล์ของนักประสานจะให้ความสำคัญกับการทำงานที่เข้ากันได้ดีกับคนหลายรูปแบบ คอยประสานงานอำนวยความสะดวกด้านต่างๆในการทำงาน รวมถึงติดตามการทำงานให้เป็นไปตามระบบ อย่างเป็นระเบียบได้ดี
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจ : การมอบหมายให้สนับสนุนงานร่วมกับทีมที่ไว้วางใจ พร้อมกับข้อมูลที่เพียงพอจะทำให้นักประสานสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ราบรื่น เกิดความถูกต้อง และเกิดงานที่มีคุณภาพสูงให้กับองค์กรได้
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้คนสไตล์นักวิเคราะห์
รูปแบบการทำงาน : สิ่งที่เป็นรูปแบบการทำงานที่โดดเด่นของสไตล์นักวิเคราะห์คือ สามารถทำงานได้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผน เพราะจะมีความช่างสังเกต เก็บข้อมูล รวมถึง มีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องต่างๆไว้อย่างดี
สิ่งที่สร้างแรงจูงใจ : เมื่อมีการมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การคิดวิเคราะห์ในเชิงลึก ที่ให้เวลามากพอ รวมถึงข้อมูลที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ จะทำให้คนสไตล์นักวิเคราะห์ลุ่มหลงไปกับข้อมูลต่างๆ เพื่อทำงานให้ประสบความสำเร็จ รับรองเลยว่าองค์กรจะได้งานที่มีคุณภาพจากคนสไตล์นี้อย่างแน่นอน
แรงจูงใจของพนักงานจะส่งผลอย่างไรต่อองค์กร ?
- ผลผลิตจากการทำงานที่สูงขึ้น
เมื่อการทำงานมีแรงจูงใจเป็นส่วนประกอบจะทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้น ตั้งใจทำงานซึ่งส่งผลต่อผลผลิตขององค์กรทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น
- เกิดนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ในองค์กร
นอกจากผลผลิตที่มากขึ้น การทำงานอย่างมีแรงจูงใจจะส่งผลให้พนักงานมีการต่อยอดทางความคิด มองหาโอกาสและไอเดียใหม่ๆ ที่จะมาพัฒนา หรือปรับปรุงการทำงานของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การขาด ลา มาสายน้อยลง
พนักงานที่มีแรงจูงใจจะมีความสุขกับชีวิตการทำงานและมีเป้าหมายที่พวกเขาตั้งใจจะลงมือทำให้สำเร็จ ทำให้พนักงานเหล่านี้มีโอกาสน้อยมากที่จะขาดงานโดยไม่จำเป็น เพราะการขาด ลา มาสาย ทำให้รู้สึกว่าอาจทำให้งานที่เขาตั้งใจทำนั้นเกิดความล่าช้า หรือพลาดเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้
- อัตราการลาออกของพนักงานน้อยลง
พนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงานมีแนวโน้มที่จะอยู่กับองค์กรนานมากขึ้น เนื่องจากสามารถเห็นผลของงานอย่างเป็นรูปธรรม และรู้สึกว่างานที่พวกเขาทำนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการลาออกที่น้อยลงยังส่งผลให้ต้นทุนการฝึกอบรมและการสรรหาพนักงานใหม่ของบริษัทลดลงอีกด้วย