Employee journey สิ่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์ทำงานที่ดีให้แก่พนักงาน 

การดูแลพนักงานในองค์กรไม่ใช่เพียงการดูแลเรื่องของการทำงานเท่านั้น แต่การสร้างความประทับใจอื่นๆ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้พนักงานเกิดความรู้สึกรักองค์กร และพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับองค์กรได้เหมือนกัน หลายบริษัทเริ่มต้นดูแลพนักงานเมื่อเข้ามาเริ่มต้นการเป็นพนักงาน แต่อีกหลายบริษัทก็เริ่มกระบวนการดูแลพนักงานตั้งแต่การเข้ามาเป็นผู้สมัครงานเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเลยทีเดียว ซึ่งการดูแลพนักงานที่กล่าวถึงนี้เป็นการดูแลพนักงานตลอดเส้นทางตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงสิ้นสุดการเป็นพนักงาน โดยในแต่ละช่วงก็จะมีการดูแลเพื่อตอบโจทย์ความต้อการของพนักงานแตกต่างกันออกไป หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น  Employee journey หรือ การเดินทางของพนักงาน 

5 ขั้นตอนในการสร้างการเดินทางของพนักงานในองค์กรของคุณ

  1. การสรรหาบุคลากร

การสนทนาในครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่สรรหา ซึ่งถือเป็นตัวแทนขององค์กรกับพนักงานจะเกิดขึ้นในขั้นตอนของการรับสมัครงาน และในช่วงนี้เองถือเป็นภาพจำแรกของพนักงานที่มีต่อองค์กร กระบวนการสรรหาที่มีความเป็นมืออาชีพ มีระบบที่ชัดเจน และมีความเป็นมิตร จะสามารถสร้างความประทับใจในการเดินทางเข้ามาบริษัทในครั้งแรกอย่างแน่นอน

  1. การเริ่มต้นการทำงาน 

เมื่อพนักงานผ่านการคัดเลือกจากกระบวนการสรรหา และกำลังเริ่มต้นที่จะเข้ามาทำงานเป็นพนักงานใหม่ องค์กรหลายแห่งจัดให้มีการปฐมนิเทศพนักงาน ซึ่งรูปแบบนั้นแตกต่างกันออกไป แต่การเอาใจใส่ในขั้นตอนการปฐมนิเทศถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการให้ข้อมูลแนะนำบริษัท หรือสวัสดิการทั่วไปนั้นอาจจะไม่เพียงพอ พนักงานใหม่ต้องการคำแนะนำในรายละเอียดของการทำงานในช่วงแรก บางองค์กรจึงมีการจัด Onboardind Program หรือระบบพี่เลี้ยงในการดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพราะกระบวนการปฐมนิเทศที่แข็งแกร่งช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรได้ถึง 70%

  1. การพัฒนาทักษะพนักงาน

การพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของพนักงาน ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาพนักงานให้เติบโตและเชี่ยวชาญในสายงานตามช่วงเวลา โดยแต่ละตำแหน่งงานก็ต้องใช้ทักษะแตกต่างกันออกไป เช่น ระดับปฏิบัติงานต้องพัฒนาทักษะการลงมือปฏิบัติงาน เมื่อเติบโตขึ้นเป็นระดับหัวหน้างานอาจต้องเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการทีม เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาพนักงานจะส่งผลกลับมายังองค์กรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้รวดเร็วและยั่งยืน

  1. การเติบโตและก้าวหน้าของพนักงาน 

ความก้าวหน้าในการทำงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พนักงานเลือกที่จะทำงานกับองค์กร การที่องค์กรสามารถสนับสนุนให้พนักงานมีความก้าวหน้าในสายอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเลื่อนระดับ ปรับเปลี่ยนตำแหน่งอย่างเหมาะสม จะเป็นแรงดึงดูดให้พนักงานพร้อมที่จะทุ่มเททำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

  1. การก้าวออกจากองค์กร

การออกจากองค์กรไมว่าจะด้วยสาเหตุจากการเกษียณอายุ การลาออก หรือการเลิกจ้าง ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นองค์กรต้องเตรียมการสัมภาษณ์เพื่อลาออก (Exit interview) เพื่อตรวจสอบหาสิ่งที่ทำให้พนักงานตัดสินใจออกจาองค์กร พร้อมทั้งค้นหาว่าสิ่งใดที่อาจรั้งพนักงานให้ยังกลับมาทำงานให้กับองค์กรได้ แต่หากพนักงานออกจากองค์กรเนื่องจากเกษียณอายุ การให้รางวัลหรือเฉลิมฉลองเพื่อขอบคุณสำหรับความทุ่มเทในการทำงานที่ผ่านมา 

ประโยชน์ในการทำ Employee journey

สร้างประสบการณ์ที่ดีและความพึงพอใจให้กับพนักงาน

ประสบการณ์ที่ดีที่พรักงานได้รับจากองค์กรทั้งเรื่องของการทำงาน เรื่องสวัสดิการ การดูแลเอาใจใส่เรื่องความเป็นอยู่ เช่น สวัสดิการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด การแสดงความห่วงใยสุขภาพพนักงานในช่วงวิกฤตโควิด 19 การฉลองวันเกิดพนักงานประจำเดือน เป็นต้น จากสถิติที่น่าสนใจกล่าวว่า เมื่อพนักงานได้รับประสบการณ์ที่ดีจากนายจ้างที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างให้เกียรติ จะทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจต่องานของเขามากขึ้นถึง  63% 

ลดอัตราการลาออกของพนักงานให้น้อยลง

การดูแลพนักงานในแต่ละช่วงอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมให้พนักงานเริ่มต้นทำงานได้อย่างมั่นใจ มีการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่อง การจัดการเส้นทางความก้าวหน้าของอาชีพที่เป็นรูปธรรมและโปร่งใส ถือเป็นสิ่งที่องคฺกรลงทุนกับพนักงานซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อองค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานต้องการทำงานร่วมกับองค์กรต่อไป ลดอัตราการลาออกของพนักงานได้เป็นอย่างดี จากสถิติที่ช่วยยืนยันกล่าวว่า

40% ของพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมที่ไม่ดีออกจาก บริษัท ภายในปีแรก

93% จะอยู่ที่ บริษัท อีกต่อไปถ้ามันลงทุนในอาชีพของพวกเขา 

เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน 

การที่องค์กรใส่ใจในการดูแลเส้นทางอาชีพของพนักงานถือเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดแผนงานที่จะค้นหาศักยภาพและแก้ไขข้อบกพร่องของพนักงานในแต่ละช่วงได้อย่างทันที นอกจากนี้ยังสามารถวางแผนกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อสร้างความร่วมมือ เพิ่มความผูกพันในกลุ่มพนักงาน และต่อองค์กรได้อีกด้วย 

วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นบวก

เมื่อเส้นทางการดูแลพนักงานมีการจัดทำขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีและการดูแลพนักงานในแต่ละช่วงจะเกิดขึ้น และอาจเกิดขึ้นอย่างร่วมมือร่วมใจ นั่นจะส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวกซึ่งเป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนให้พนักงานในองค์กรทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข จากสถิติด้านที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กรกล่าวว่า ผู้บริหาร 94% และพนักงาน 88% เชื่อว่าวัฒนธรรมการทำงานในเชิงบวกที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ องค์กรจึงต้องกำหนดเส้นทางการเดินทางของพนักงานและสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวกได้  ตลอดเส้นทางการเดินทางของพนักงานสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ และสร้างการรับรู้ให้กับพนักงานเพื่อประเมินความพึงพอใจในแต่ละกระบวนการ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลสำหรับการพัฒนาต่อยอดการดูแลพนักงาน การสร้างแรงจูงใจ การสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน