เทคนิคเปิดประตูใจให้ลูกน้องกล้าเข้าหาคุณ

เมื่อคุณต้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้างาน แน่นอนว่าภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินควบคู่กับไปคือการจัดการงานและการบริหารคน ซึ่งหากคุณสามารถบริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ย่อมส่งผลให้การจัดการงานเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น แต่การบริหารคนที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ส่งผลดีต่อการทำงานในปัจจุบันไม่ใช่ในรูปแบบการสั่งการ หรือออกคำสั่งอีกต่อไป เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พนักงานใต้บังคับบัญชาของคุณตั้งกำแพงทางความรู้สึกไม่กล้าที่จะสื่อสารกับผู้บังคับบัญชาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสื่อสารกันทั้งสองฝ่ายในการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากผู้บังคับบัญชาเปิดใจลูกน้องให้กล้าเข้าหา จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจ สร้างการมีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำงานได้เป็นอย่างดี โดย สถิติความเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จในปี 2021 จาก goremotely.net ระบุว่า

  • 78% ของผู้นำธุรกิจให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการมีส่วนร่วมกับพนักงาน
  • พนักงานจำนวนมากถึง 79% จะลาออกจากงานเนื่องจากขาดความชื่นชมจากผู้นำ
  • ผู้นำที่ดีควรซาบซึ้งต่อผู้ติดตามของเขา เนื่องจากพนักงานกว่า 35% ระบุว่าพวกเขาต้องการการยอมรับจากผู้บังคับบัญชามากขึ้น 

โดยเทคนิคในการเปิดประตูใจลูกน้องให้กล้าเข้าหาเพื่อพูดคุยกับหัวหน้างาน สามารถเริ่มต้นได้จากหัวหัวหน้างานเอง ดังนี้

  1. มอบหมายงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การมอบหมายงานที่ชัดเจนโดยการกำหนดงานและวัตถุประสงค์ของการทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน ให้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องที่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม จะแสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจของหัวหน้าที่มอบหมายให้ลูกน้องได้ลงมือทำและบริหารจัดการงานนั้นๆ

  1. วางแผนงานจัดการทรัพยากร

การวางแผนงาน และการวางแผนเพื่อจัดการทรัพยากรที่สนับสนุนการทำงาน จะทำให้ทีมงานมองเห็นเป้าหมายของการทำงานเป็นภาพเดียวกัน โดยแผนงานที่รัดกุม การจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหัวหน้าทีมในการบริหารงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับทีมที่จะลงมือทำเพื่อให้การทำงานสามารถบรรลุเป้าหมายไปพร้อมกัน

  1. การติดตามและประเมินผล 

เมื่อผ่านขั้นตอนการมอบหมายงานและการวางแผนการทำงานมาแล้ว ระหว่างลงมือทำ การติดตามงานเพื่อสื่อสารกัน โดยการให้ feedback เป็นสิ่งสำคัญที่จะผลลัพธ์ที่ดีได้หลายด้าน เช่น  สื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหากมีข้อผิดพลาดจะได้แก้ไขได้อย่างทันเวลา สื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการทำงาน สื่อสารเพื่อสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น พร้อมกับการประเมินผลการทำงานเพื่อการพัฒนาต่อยอดในอนาคต

  1. สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจ 

การทำงานร่วมกันการสร้างแรงจูงในและสนับสนุนอย่างจริงใจให้ลูกน้องได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกน้องได้แสดงศักยภาพที่มี รวมถึงการร่วมกันสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อองค์กร จะทำให้เกิดความร่วมมือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและลูกน้องได้ 

  1. พัฒนาลูกน้องอยู่เสมอ 

นอกจากการทำงาน ผ่านการการทำความเข้าใจสไตล์การทำงาน รวมถึงจุดแข็งของลูกน้องแล้วส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อ เช่น การเป็นพี่เลี้ยง การเป็นโค้ช การส่งเสริมให้ใช้ศักยภาพนั้นอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความชำนาญ จะทำให้ลูกน้องเกิดความมั่นใจในการทำงาน เพราะเข้าใจในศักยภาพของตนเอง รวมถึงเพื่อนร่วมทีม ทำให้สามารถทำงานร่วมกับคนที่มีความแตกต่างได้ โดยใช้ความต่างนั้นเพื่อสนับสนุน เติมเต็มซึ่งกันและกัน

การเปิดประตูใจลูกน้องเพื่อให้กล้าเข้ามาพูดคุยปรึกษากับหัวหน้างานสามารถใช้ได้กับทั้งการทำงานและเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการทำงาน ดังนั้นเมื่อลูกน้องสามารถเข้ามาพูดคุยกับหัวหน้าได้อย่างเปิดใจ ก็จะส่งผลดีในหลายด้าน ดังนี้ 

  1. ลดความผิดพลาดในการทำงาน

การทำงานทุกรูปแบบย่อมเกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงานได้ แต่หากมีการพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว ก็จะทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง ส่งผลให้สามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดและทันเวลา ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างซึ่งอาจจะส่งปลต่อภาพรวมขององค์กรได้

  1. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

การที่หัวหน้างานเปิดใจที่จะรับฟังพนักงาน ทำให้พนักงานมีความกล้าที่จะเสนอความคิดเห็น แลกเปลี่ยนไอเดีย และให้ Feedback กับหัวหน้างาน ซึ่งจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิดเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ หรือพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

  1. ลดความตึงเครียดของพนักงาน 

นอกจากด้านทักษะการทำงานแล้ว ความรู้สึกพนักงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่่ส่งผลต่องานได้ และเมื่อพนักงานเกิดความตึงเครียด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำงาน เพื่อนร่วมงาน ปัญหาส่วนตัว แต่หากความตึงเครียดเหล่านี้ได้พูดคุยเพื่อรับคำแนะนำหรือหาแนวทางการแก้ไข ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานดีขึ้นได้

  1. สร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับทีม

การพูดคุยสื่อสารกันในทีม โดยที่ลูกน้องสามารถคุยกับหัวหน้างานได้อย่างเปิดใจจะทำให้ลดช่องว่างระหว่างการทำงาน และเพิ่มความสามัคคีในทีม ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ และทีมที่แข็งกร่ง เพื่อเดินหน้าทำงานได่อย่างคล่องตัว