4 วิธีพัฒนาทักษะของพนักงานยุคใหม่ที่ทำได้เองภายในองค์กร

การบริหารงานภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน การจัดการธุรกิจจึงจำเป็นต้องรัดเข็มขัด มีการจัดสรรงบประมาณที่อาจจะน้อยลงไป แต่สำหรับการพัฒนาพนักงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะผลักดัน หรือดึงศักยภาพของพนักงานให้ออกมาเพื่อสร้างผลงานในด้านต่างๆ ที่ทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันการสูง พร้อมทั้งสร้างความก้าวหน้าในสายงานของตนเอง แม้งบประมาณจะลดลงแต่การพัฒนาพนักงานไม่ควรลดลงตามไปด้วย เพราะการพัฒนาพนักงานมีมากกว่าการส่งพนักงานไปอบรม สำหรับฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในด้านนี้ อาจลองมองหาวิธีใหม่ ที่สามารถลงมือทำได้เองโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร ทั้งบุคคล ระบบ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสถิติด้านการพัฒนาพนักงานที่น่าสนใจที่ lorman.com ได้นำมาเผยแพร่ พบว่า

  • พนักงาน 70%ค่อนข้างจะออกจากงานปัจจุบันเพื่อทำงานให้กับองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุนในการพัฒนาพนักงานและการเรียนรู้
  • 74% ของคนงานเต็มใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือฝึกอบรมใหม่เพื่อที่จะได้มีงานทำ
  • 41% ของพนักงานพิจารณาว่าโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพขององค์กรเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความพึงพอใจในงานของตน
  • 87% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลเชื่อว่าการเรียนรู้และการพัฒนาในที่ทำงานเป็นสิ่งสำคัญ
  • 91% ต้องการให้การฝึกอบรมเป็นแบบเฉพาะบุคคลและมีความเกี่ยวข้อง

สำหรับไอเดียในการพัฒนาพนักงานที่สามารถทำได้ภายในองค์กรเองเริ่มต้นได้ด้วย 4 วิธีนี้ 

1.สร้าง Corporate Trainers

เชื่อเลยว่าในแต่ละองค์กรต้องมีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในทักษะต่างๆ อยู่ภายในองค์กรเอง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก ในการที่จะให้บุคลากรเหล่านั้นได้ออกมาแสดงศักยภาพ แบ่งปันความรู้ อาจจะเริ่มจากคนที่เป็นพี่เลี้ยงสอนงาน ที่ให้คำแนะนำแบบรายบุคคล ต่อยอดสู่ขั้นวิทยากรภายในของบริษัทที่สามารถบรรยาย แลกเปลี่ยนความรู้ในสิ่งที่มีประสบการณ์ผ่านลงมือทำอย่างเชี่ยวชาญให้กับพนักงาน ในเรื่องของความรู้และความมั่นใจของเนื้อหาต่างๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วง Corporate Trainers นั้นมีพร้อมอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือโอกาส ที่จะได้ขึ้นเวทีเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร การถ่ายทอด การสื่อสารในที่สาธารณะอย่างทรงพลัง ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้นั้นได้ผล และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 

2.สลับตำแหน่งงาน 

ในบางสายงานเมื่อสถานการณ์ของธุรกิจ หรือรูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนไป เช่น ในยุคการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 งานหลายตำแหน่งต้องปรับบริบทำไปทำงานจากที่บ้าน (Work from home) งานบางตำแหน่งสามารถใช้จำนวนพนักงานน้อยลงได้ องค์กรอาจเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองเรียนรู้งานในตำแหน่งอื่นๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากทีมเบื้องหน้าอาจมาเรียนรู้งานเบื้องหลัง และสลับให้เบื้องหลังได้ออกหน้างานบ้าง เป็นต้น

3.ถอดองค์ความรู้

จากประสบการณ์ทำงานที่สะสมมาของแต่ละคน และแต่ละฝ่าย ซึ่งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้น ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีค่า และสามารถส่งต่อเพื่อให้พนักงานใหม่ หรือพนักงานที่กำลังสลับตำแหน่งงาน สามารถศึกษาความรู้เหล่านี้ได้ องค์กรอาจจะถือโอกาสในการถอดองค์ความรู้ออกมาเป็นสื่อต่างๆ เช่น บทความ หนังสือ คลิปสั้น พร้อมกับใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทให้องค์ความรู้เหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์การทำงานแบบ Work from every where โดยการอัพโหลดขึ้น Intranet นอกจากนี้การถอดองค์ความรู้ขององค์กรสามารถลดปัญหาช่องว่างเมื่อพนักงานเก่าลาออก เพราะทุกครั้งที่พนักงานลาออกจะนำองค์ความรู้ออกไปด้วย ทำให้เป็นรอยต่อที่พนักงานใหม่จะเข้ามารับช่วงต่อ หากมีองค์ความรู้ที่พร้อมให้ได้ศึกษาพนักงานใหม่สามารถศึกษาข้อมูลด้วยตนเองเพื่อเดินหน้าสานต่องานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย 

การแบ่งปันความรู้ผ่านอินทราเน็ตมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน ตามที่เปิดเผยโดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey การใช้เทคโนโลยีทางสังคมสามารถเพิ่มผลิตภาพของผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ได้ถึง 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์

4.ทำ Happy workplace

นอกจากการฝึกอบรมทักษะการทำงานแล้ว เรื่องของความสัมพันธ์ ทัศนคติ และคุณค่าขององค์กรก็สำคัญไม่น้อย การจัดกิจกรรมเพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้บริบทภายในองค์กรก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถทำได้ โดยบริบทการทำงานในยุคนี้ที่ต้องทำงานอย่างเว้นระยะห่างทางสังคม องค์กรอาจเน้นการสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนรวมพนักงานผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงานได้ ซึ่งผลสำรวจการมีส่วนร่วมและความสุขของพนักงานจาก forbes กล่าวว่า

  • ทีมที่มีส่วนร่วมสูงแสดงผลกำไรเพิ่มขึ้น 21%
  • 89% ของพนักงานในบริษัทที่สนับสนุนความคิดริเริ่มด้านความเป็นอยู่ที่ดีมักจะแนะนำบริษัทของตนให้เป็นสถานที่ทำงานที่ดี
  • 96% ของพนักงานเชื่อว่าการแสดงความเห็นอกเห็นใจเป็นวิธีที่สำคัญในการรักษาพนักงานให้คงอยู่ต่อไป

แม้งบประมาณอาจถูกจำกัดแต่การพัฒนาต้องไม่หยุด ในยุคนี้หากธุรกิจไหนไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อาจเป็นการถอยหลังโดยไม่รู้ตัว เพราะคู่แข่งขันสามารถแซงหน้าไปได้โดยง่าย การพัฒนาพนักงานให้มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมรองรับกับงานที่ตอบโจทย์องค์กร และมีความสามารถตรงตามที่องค์กรต้องการ จุงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยองค์กรควรเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาพนักงานอย่างตรงจุด มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ทำให้โอกาสในการเติบโจ พร้อมที่จะเพราะเมื่อองค์กรเติบโต เราเองก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยเช่นกัน