ทุก ๆ องค์กรต่างก็มีทั้งผู้จัดการสายงาน (line maneger) และผู้จัดการฝ่ายบุคคล (HR manager) ซึ่งทั้งสองตำแหน่งนี้มีบทบาทที่แตกต่างกัน และเหมือนกัน เนื่องจากการทำงานร่วมกันของทั้งผู้จัดการสายงานและผู้จัดการฝ่ายบุคคลในบางจุดประสงค์ จะทำให้การดำเนินงานนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่อองค์กร อย่างไรก็ตาม หลายองค์กรอาจยังไม่เข้าใจถึงบทบาทของแต่ละตำแหน่งอย่างครบถ้วนนัก
ในบทความนี้ เราจึงจะมาพูดถึงบทบาทของผู้จัดการสายงานและผู้จัดการฝ่ายบุคคลกันว่า พวกเขามีบทบาทอะไรที่เหมือนและแตกต่างกันบ้าง
บทบาทของผู้จัดการสายงาน (line manager)
- มอบหมายงานให้กับคนที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ดูแลเรื่องการปฐมนิเทศพนักงาน
- อบรมเกี่ยวกับการทำงานให้กับพนักงานใหม่ หรือพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น
- สร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันที่ดี รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น
- สื่อสารเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานของบริษัทไปยังทีมงานของตน
- พัฒนาศักยภาพของพนักงานแต่ละคน ให้พวกเขาได้เติบโตในด้านการทำงาน
- ดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยให้กับทีม
บทบาทของผู้จัดการฝ่ายบุคคล (HR manager)
- การวางแผนด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ตอบสนองต่อจุดประสงค์ขององค์กร
- การวิเคราะห์เกี่ยวกับงาน ไม่ว่าจะเป็น คำอธิบายเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของตำแหน่ง ตำแหน่งงานภายในองค์กรที่ยังขาด สนับสนุนการทำงานของพนักงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดูแลเรื่องค่าตอบแทน เป็นต้น
- พิจารณาคนเข้าทำงาน
- อบรมและพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน
- ออกแบบนโยบายการทำงาน เพื่อลดความขัดแย้ง และให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น วันลา การลงเวลาเข้าทำงาน นโยบายที่ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ และการเหยียดชนชาติ เป็นต้น
- ตรวจสอบเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน
- ดูแลเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร
- ดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยให้กับพนักงาน
- ให้รางวัลและผลตอบแทนกับพนักงาน
หน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการ ถึงแม้จะอยู่กันคนละส่วน ก็ยังมีพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่บทบาทด้านการวางแผน การบริหารจัดการ การดูแลพนักงานในทีม เป็นผู้นำ และคอยควบคุมการทำงาน และเนื่องจากผู้จัดการสายงานคือคนที่อยู่ใกล้ชิดด้านการทำงานจริงมากกว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคล ทำให้องค์กรที่ดีควรมีการจัดระบบการทำงานที่มีการร่วมมือกันจากทั้งฝ่ายบุคคลและผู้จัดการสายงานได้ช่วยกันบริหารคนให้กับองค์กร โดยบทบาทต่อไปนี้คือสิ่งที่ทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารคนและงานได้ ในขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นตอนการจ้างงาน:
- ผู้จัดการสายงาน: ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบทบาทและทักษะที่จำเป็นในการทำงานของตำแหน่งงานที่ยังขาด รวมทั้งช่วยตรวจสอบก่อนที่ HR จะทำการประกาศและจัดหาคนในขั้นตอนต่อไป
- ฝ่ายบุคคล: วิเคราะห์เกี่ยวกับงาน พร้อมเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับบทบาทและทักษะที่จำเป็นในการทำงาน
ขั้นตอนการคัดสรรคน:
- ฝ่ายบุคคล: รับใบสมัคร คัดเลือกพร้อมสัมภาษณ์ในเบื้องต้น
- ผู้จัดการสายงาน: สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายและเลือกคนเข้ามาทำงาน (Line Manager)
ขั้นตอนในการอบรมและพัฒนาพนักงาน:
ฝ่ายบุคคลและผู้จัดการสายงานช่วยกันวางแผน ออกแบบ และดำเนินการอบรมให้กับพนักงาน
จะเห็นได้ว่าผู้จัดการสายงานมีบทบาทที่สำคัญ มากไปกว่าการบริหารการทำงาน แต่ยังต้องคำนึงถึงการบริหารคนด้าน เพราะทั้งสองอย่างนี้ต้องดำเนินการไปพร้อมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การคัดเลือกพนักงานก็ต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้พนักงานที่เป็นสมาชิกในทีมของตนที่เหมาะกับสายงานนั้นจริง ๆ พร้อมทำหน้าที่ในการถ่ายทอดประสบการณ์และทักษะในการทำงานในขั้นตอนการอบรม
เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมด้านการทำงานและพัฒนา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และสุดท้าย ขั้นตอนในการประเมินผลงานก็เป็นหน้าที่ของทั้งฝ่ายบุคคลและผู้จัดการสายงานที่ต้องช่วยกัน หากองค์กรได้เห็นถึงประโยชน์เหล่านี้ ว่าทั้งผู้จัดการสายงานและฝ่ายบุคคลสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาพนักงานและองค์กรได้ ก็จะทำให้ทั้งพนักงานและองค์กรค่อย ๆ เติบโตไปพร้อม ๆ กัน จากการดำเนินที่มีประสิทธิภาพของการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย
Reference: