ทำไมองค์กรต้องใช้แบบประเมินบุคลิกภาพ ? (1)

องค์กรยุคใหม่หันมามองหาเครื่องมือที่จะเป็นตัวช่วยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในมิติต่างๆ อาทิ การสรรหาพนักงาน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาทีมงาน การประเมินผลงาน การพัฒนาภาวะผู้นำ การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งเครื่องมือที่ได้รับความนิยม มีการนำไปใช้กัรอย่างแพร่หลายเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการบริหารงานบุคคลขององค์กรก็คือ แบบประเมินบุคลิกภาพ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ และมีวิธีการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น โดยสามารถใช้งานทางออฟไลน์ หรือใช้งานทางออนไลน์ ตอบโจทย์การทำงานแบบ New Normal 

จากข้อมูลข้างต้นบุคลิกภาพสามารถเชื่อมโยงได้กับการทำงานในหลายมิติ เรื่องของบุคลิกภาพจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ หรือในทางกลับกันอาจจะเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จก็ได้ ลองนึกภาพคนที่ทำงานฝ่ายขาย แล้วมีบุคลิกภาพที่มีความเป็นกันเอง กระฉับกระเฉง ก็จะสามารถทำงานได้อย่างดี หรือ คนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่วิเคราะห์วางแผน แต่มีบุคลิกที่ไม่ชอบการทำงานกับข้อมูล กับเอกสาร ก็อาจทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานได้ 

การที่เรามีความเข้าใจในบุคลิกภาพของตนเอง และผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วงงาน หรือลูกน้อง พร้อมกับสามารถเข้าใจบุคลิกภาพในส่วนที่เหมือน และแตกต่างกันได้ มีการนำจุดเด่นของตนเองมาใช้ให้เต็มความสามารถ ก็จะส่งผลถึงการทำงานของแต่ละบุคคล รวมถึงการทำงานเป็นทีม ที่มีการประสานสร้างจุดสมดุลย์ในการทำงานลดการขัดแย้ง และเพิ่มความร่วมมือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทำให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการที่มีทีมงานที่แข็งแกร่งและงานที่มีประสิทธิภาพ

แบบประเมินบุคลิกภาพตอบโจทย์ด้านใดบ้าง

  • การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร

องค์กรแต่ละแห่งมีขั้นตอนและกระบวนการสรรหาบุคลากรที่แตกต่างกันไป เพื่อมองหาพนักงานที่มีทั้งความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงาน มีประสบการณ์ มีทัศนคติเชิงบวก และเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ โดยส่วนใหญ่ด่านแรกที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์ได้รู้จักกับผู้สมัครก็คือประวัติโดยย่อผ่านเรซูเม่ แล้วเข้าสู่กระบวนการถัดไปคือขั้นตอนนการสัมภาษณ์

แต่การมีจัดทำเอกสารประกอบหรือเรซูเม่ที่ดี และการตอบคำถามขณะสัมภาษณ์ที่ดูมั่นใจในไม่เพียงพอต่อการได้งานอีกต่อไป เพราะเว็ปไซต์ skeeled  ได้เผยแพร่ผลวิจัยที่กล่าวถึงค่าใช้จ่ายที่สูงของการจ้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับอัตราการลาออกที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของพนักงานที่มำจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเอาใจใส่กับกระบวนการสรรหาให้ดีขึ้น โดยผลวิจัยพบว่า 75% ของการตัดสินใจจ้างงานทั้งหมดส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการตัดสินใจจ้างงานที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 3.5 เท่าของเงินเดือนประจำปีของพนักงาน ซึ่งส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างชัดเจน

ส่วนการศึกษาในปี 2016 โดย Frank L. Schmidt ซึ่งสำรวจผลกระทบเชิงปฏิบัติและเชิงทฤษฎีจากผลการวิจัย 100 ปีเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกในด้านจิตวิทยาบุคลากร พบว่าประสบการณ์ในการทำงานเพียงอย่างเดียวช่วยให้สามารถคาดการณ์ประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างแม่นยำ 16% ในขณะที่การผสมผสานของความรู้ความเข้าใจ ความสามารถและบุคลิกภาพช่วยให้การทำนายประสิทธิภาพในอนาคตมีความแม่นยำถึง 78%

ที่มา https://www.skeeled.com/blog/5-reasons-why-you-should-use-personality-assessment-in-recruitment

การใช้แบบประเมินบุคลิกภาพเข้ามาเป็นส่วนช่วยสำหรับประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะอธิบายพฤติกรรมที่อาจจะไม่ได้แสดงออก เช่น รูปแบบการทำงาน รูปแบบการตัดสินใจ ที่ยากต่อการจะเห็นได้ขณะสัมภาษณ์ซึ่งมีระยะเวลาไม่นาน แต่สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องค้นหาคำตอบให้มีความชัดเจนก่อนก็คือ วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร ลักษณะคนแบบไหนที่จะสามารถทำงานในรูปแบบองค์กรนี้ได้อย่างเหมาะสม (Culture Fit) รวมถึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่กำลังคัดเลือก เพื่อที่จะได้สรรหาบุคลากรที่จะอยู่กับองค์กรได้นาน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานลงได้

  • การพัฒนาทีมงาน

รูปแบบของทีมเกิดจากการรวมบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และพฤติกรรมมารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อจัดการภารกิจ ความรับผิดชอบต่างๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งพฤติกรรมของสมาชิกในทีมแต่ละคนจะมีการหล่อหลอมรวมกันออกมาเป็นสไตล์การทำงานภาพรวมของทีม เช่น ทีมที่มีรูปแบบการขับเคลื่อนการทำงานด้วยแรงจูงใจ ทีมที่มีความกระตือรือร้น ทีมที่มีการมุ่งผลลัพธ์เป็นหลัก ทีมที่เน้นการสร้างสัมพันธภาพ เป็นต้น เมื่อเราทราบสไตล์การทำงานของทีมแล้ว การมอบหมายงานให้เหมาะสม ตรงกับความถนัดของทีมก็จะทำให้การทำงานราบรื่น และงานออกมามีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

โดยทีมที่มีประสิทธิภาพคือทีมที่รวมคนที่มีความสามารถหลากหลาย เพื่อสามารถนำความสามารถที่ต่างกันมาปรับสมดุลย์ให้การทำงานสอดคล้องกัน สามารถเสริมหนุนกันและกันได้ แต่นอกจากการดึงความสามารถออกมาใช้ การสร้างความเข้าใจเรื่องของความแตกต่างของบุคลิกภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเจอสมาชิกในทีมที่มีบุคลิกตรงกันข้ามกัน แล้วต้องร่วมงานกันโดยขาดความเข้าใจอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในทีมขึ้นได้ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร เพราะการทำงานเป็นทีมการสื่อสารระหว่างกันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนทีม สร้างความร่วมมือ และประสานงานร่วมกัน

การประเมินของ CliftonStrengths องค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาจุดแข็งของพนักงานพบว่า สถิติการทำงานเป็นทีมในที่ทำงานแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่ได้รับการสนับสนุนให้ทำงานเป็นทีมมียอดขายเพิ่มขึ้น 19% และความผูกพันกับลูกค้าเพิ่มขึ้น 7% 

ที่มา https://teamstage.io/teamwork-statistics/

สำหรับแบบประเมินบุคลิกภาพอื่นๆที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการพัฒนาภาวะผู้นำ และการประเมินผลสมรรถนะการทำงานที่ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน สามารถติดตามได้ในบทความ ทำไมองค์กรต้องใช้แบบประเมินบุคลิกภาพ ? (2)