การพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของพนักงาน หนึ่งในงานที่ HR ต้องให้ความสำคัญ

สำหรับองค์กรใหญ่ ๆ ตำแหน่ง HR หรือฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร เพราะการพัฒนาหรือเพิ่มสมรรถนะของบุคลากรให้เพิ่มขึ้น ทำให้ศักยภาพขององค์กรเพิ่มขึ้นด้วย และช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและการดำเนินงานขององค์กรในหลาย ๆ มิติ พร้อมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจให้เกิดขึ้น 

โดยวันนี้เราจะมาเผยทุกเคล็ดลับการพัฒนาสมรรถนะของพนักงานในองค์กรเพื่อองค์กรสามารถก้าวไปสู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัด

สมรรถนะ (Competency) คืออะไร 

สมรรถนะ (Competency) มีความสำคัญต่อการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กรเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสมรรถนะนั้นมีความสำคัญต่อการคัดเลือก ประเมิน และพัฒนาบุคลากรให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของตำแหน่งงานที่พนักงานได้รับและตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งจะทำให้ HR สามารถคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และบุคลิกลักษณะตามที่องค์กรต้องการให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานทราบถึงความสามารถที่แท้จริงของตนเองว่าอยู่ในระดับใด เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงกับความสามารถที่ตนเองมี พร้อมพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้สูงขึ้น โดยองค์ประกอบของสมรรถนะมีดังต่อไปนี้ 

  1. ทักษะ (Skill) คือสิ่งที่พนักงานได้รับการฝึกปฏิบัติและทำได้จนชำนาญ 
  2. ความรู้ (Knowledge) คือความรู้เฉพาะด้านของพนักงานแต่ละบุคคล 
  3. ทัศนคติ คือความคิด ความเชื่อมั่นของตนเองที่มีต่อการทำงาน องค์กร หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน 
  4. บุคลิกนิสัย คือสิ่งที่อธิบายตัวตนของพนักงาน หรือสิ่งอธิบายสิ่งที่พนักงานเป็น 
  5. แรงจูงใจในการทำงาน คือเป้าหมายที่มีต่อการทำงานของพนักงาน

เทคนิคในการพัฒนาสมรรถนะของพนักงานในองค์กร 

สำหรับทุกคนที่ทราบแล้วสมรรถนะคืออะไร ? มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ? แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาสมรรถนะของพนักงานภายในองค์การ โดยต้องเริ่มจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องมีการตรวจสอบประวัติส่วนบุคคล เพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ ของพนักงาน อาทิ การศึกษา ความสามารถ เป็นต้น ก่อนที่จะประเมินจากการปฏิบัติงานจริง ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถของพนักงานในองค์กรให้มากขึ้น ดังนี้ 

1.แผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan)

เป็นการฝึกอบรมความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรโดยจะมีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะเหมาะสมกับตำแหน่งงาน และเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน โดยอาจจัดให้มีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือพัฒนาศักยภาพการทำงานให้สูงขึ้น 

2.การฝึกอบรม (Training)

การฝึกอบรมพนักงานนั้นจะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนได้พัฒนาตัวเอง มีความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้พนักงานงานสามารถเติบโตในสายงาน และเพื่อความก้าวหน้าขององค์กรด้วยเช่นกัน 

3.การเสนอแนะแบบรอบทิศ 360 องศา

การให้ฟีดแบ็คแบบ 360 องศา คือการให้ข้อเสนอแนะในการทำงาน โดยการฟังความคิดเห็นจากคนรอบทิศตั้งแต่ผู้บริหาร หัวหน้างาน รวมไปถึงลูกน้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นหลากหลายมิติ หลากหลายความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของผู้ที่รับฟัง เพื่อให้นำกลับมาปรับปรุงและพัฒนาการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น 

4.การมอบงานที่ท้าทายมากขึ้น 

การมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้นเป็นอีกหนึ่งในวิธีการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร โดยลองเริ่มต้นจากการมอบหมายงานที่ยาก และท้าทายให้พนักงาน จะช่วยให้ฝ่าย HR สามารถประเมินศักยภาพของพนักงานที่ได้รับโปรเจคนั้น และยังเป็นการทำลายขีดความสามารถเพื่อให้พนักงานคนดังกล่าวมีศักยภาพใหม่มากขึ้น และมีความเชี่ยวชาญในการทำงานมากขึ้น 

ประโยชน์ของการพัฒนาสมรรถนะ 

แน่นอนว่าการพัฒนาขีดความสามารถของพนักงานย่อมทำให้พนักงานคนดังกล่าวสามารถเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ได้อย่างมีศักยภาพ มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดี และยังมีประโยชน์ของการพัฒนาสมรรถนะอีกมากมาย ดังนี้ค่ะ 

1.การวางแผนอัตรากำลังคน

สำหรับการพัฒนาสมรรถนะของคนภายในองค์กรเป็นประโยชน์ต่อการจัดโครงสร้างองค์กร รวมถึงจัดหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับปริมาณงานที่องค์กรดำเนินการอยู่ ทั้งจำนวนคน จำนวนงาน และช่วยในการวางแผนอัตรากำลังคนภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการเลื่อนตำแหน่ง ย้ายงาน และหาพนักงานใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร 

2.ประโยชน์ต่อการขยายโอกาสทางธุรกิจ

โดยถ้าหากว่าฝ่าย HR สามารถพัฒนาสมรรถนะของพนักงานให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นแล้วก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพาองค์กรไปสู่ช่องทางในการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ หรือขยายโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น 

3.สามารถพัฒนาบุคคลกรได้อย่างมีทิศทาง

เมื่อฝ่าย HR ทราบถึงสมรรถนะของบุคลากร จะมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการความสามารถของบุคลากรได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งปรับตำแหน่ง ย้ายงาน และการประเมินผลขึ้นเงินเดือน อีกทั้งยังช่วยให้ HR สามารถวางแผนพัฒนาอาชีพของพนักงานในลำดับถัดไป 

4.ช่วยในการค้นหาพนักงานที่ตรงกับความต้องการขององค์กร 

แน่นอนว่า ถ้าหากฝ่าย HR เข้าใจสมรรถนะของบุคคลในองค์กรได้เป็นอย่างดี ก็จะนำมาซึ่งการกำหนดเกณฑ์การจัดสรรพนักงานให้ตรงกับสมรรถนะที่องค์กรต้องการ และยังสามารถประเมินความรู้ ทัศนคติของผู้สมัครให้เป็นไปตามนโยบายขององค์กรได้เป็นอย่างดี 

สำหรับการพัฒนาสมรรถนะของพนักงานของฝ่าย HR ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การทลายขีดความสามารถที่มีอยู่เดิม โดยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มศักยภาพขององค์กรให้เหนือระดับมากขึ้นกว่าที่เคย