การสร้าง Employee Engagement  เป็นหน้าที่ของใคร?

การทำงานของพนักงานมีหลากหลายรูปแบบ เราจะพบว่ามีพนักงานที่ทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จลุล่วงตามกำหนดเวลา มุ่งมั่นกับทำงานของตนเองเป็นหลัก โดยอาจไม่ได้มองถึงมุมมองอื่นๆ ซึ่งในแบบแรกนี้เราจะได้งานที่เสร็จ แต่ไม่สามารถการันตีคุณภาพของงานได้ กับพนักงานแบบที่สอง คือกลุ่มที่ตั้งใจทำงานให้สำเร็จ พร้อมกับมีมุมมองในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น ความสัมพันธ์กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน การร่วมกิจกรรมที่องค์กรจัดขึ้น การสร้างผลงานหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างเต็มใจ ความรู้สึกอยากทุ่มเทเพื่อเห็นการเติบโตขององค์กร ผลลัพธ์ที่ออกมาของพนักงานกลุ่มที่สองคือ งานที่มีคุณภาพ มียอดขายหรือกำไรที่สูงกว่า รวมถึงอัตราการลาออกของพนักงงานทีต่ำกว่า จะเห็นได้ว่าจุดที่มีความแตกต่างกันของพนักงานสองกลุ่มนี้คือการมีส่วนร่วมและความผูกพันธ์ต่อองค์กร หรือ Employee Engagement

ในปัจจุบันมีการพูดถึง Employee Engagement  โดยองค์กรหลายแห่งได้นำมาทำเป็นกลยุทธ์ในการการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน ซึ่งจะส่งผลมากกว่าเรื่องของการบริหารคนแต่ยังมีผลต่อการบริหารผลงาน การสร้างผลกำไรให้กับองค์กรอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ดียิ่งขึ้น

  • จากผลสำรวจโดย Gallup พบว่าพนักงานที่มีส่วนร่วมกับองค์กร มีประสิทธิภาพการทำงานสูงมากกว่าพนักงานที่ไม่มีส่วนร่วมถึง 17%
  • ผลสำรวจของ Gallup ยังบอกอีกว่า 51% ของพนักงานซึ่งกำลังวางแผนที่จะลาออกจากงานปัจจุบัน อาจเป็นเพราะขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมกับองค์กร การรักษาพนักงานไว้ได้คือการสร้างความรู้สึกให้พนักงานรู้สึกผูกพันธ์กับงาน และแสดงให้เห็นว่าองค์กรมองเห็นความพยายามของพนักงานและพร้อมผลักดันให้เติบโตตามสายงาน ซึ่งจะทำให้พวกเขาจะอยากทุ่มเทกับการทำงานมากขึ้น
  • การศึกษาของ Wyatt Watson พบว่า บริษัทที่มีผลลัพธ์ของ การมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงานที่ดี จะสามารถสร้างผลกำไรให้กับองค์กรสูงถึง 21% 
  • หากองค์กรมีการส่งเสริมในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงาน ผลลัพธ์ในเรื่องของรายได้ต่อจำนวนพนักงานสูงขึ้นถึง 26%

ที่มา : https://thepractical.co/employee-engagement-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B1/

Asian colleague male and female friend casual dress meeting consult work together with fun and happiness successful brainstorm in workplace business partners relation ideas concept

ใครบ้างที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม?

การมีส่วนร่วมของพนักงานมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับทุกคนในองค์กร คงเป็นเรื่องยากหากจะต้องมอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ดูแลให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกระดับต้องตระหนักและให้ความสำคัญ พร้อมขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานระดับไหน สายงานใดก็สามารถกำหนดระดับของการมีส่วนร่วมได้ ดังนี้

  • ระดับผู้บริหาร 

ต้องมีความตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างการมีส่วนของพนักงานอย่างจริงจัง มีการกำหนดนโยบาย หรือวัฒนธรรมองค์กรองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมและความผูกพันธ์ของพนักงาน เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบและระบบการทำงาน รวมถึงแนวคิดที่นำมาบริหารทั้งคนและการทำงานให้เหมาะสมกับองค์กร ทันสมัยกับยุคปัจจุบัน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน สร้างสวัสดิการที่ดี ทำให้องค์กรมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น  พร้อมกับเป็นตัวอย่างที่ดีในการมีส่วนร่วม ให้พนักงานสามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในองค์กรได้มากยิ่งขึ้น

  • ระดับหัวหน้างาน 

เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพนักงาน ได้คลุกคลีและทำงานร่วมกัน จึงสามารถกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานได้ง่าย โดยการเป็นผู้นำที่มีความเป็นมืออาชีพ คือดูแลทั้งการทำงานให้ราบรื่น สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีการค้นหาและพัฒนาศักยภาพของพนักงานในทีมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการสังเกตพฤติกรรมการทำงาน หรือการใช้เครื่องมือในการช่วยประเมินศักยภาพที่อาจซ่อนอยู่เพื่อที่จะดึงศักยภาพออกมาต่อยอดได้อย่างตรงจุด ให้โอกาสในการเรียนรู้และเติบโต พร้อมกับดูแลเรื่องความรู้สึกของพนักงานควบคู่กันไปด้วย ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันธ์ต่อองค์กรให้เพิ่มขึ้น

  • ระดับพนักงาน

สำหรับพนักงานเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกผูกพันธ์ต่อองค์กรได้ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กร หรือทำงานตามได้รับมอบหมาย แต่มีการให้ Feedback ในเรื่องด้านต่างๆ กลับไปยังหัวหน้างานหรือผู้บริหาร เพื่อพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไป และปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในองค์กร

เมื่อองค์กรพร้อมที่จะสนับสนุนให้พนักงานเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและผูกพันต่อองค์กร โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมกันแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็ไม่ใช่ประโยชน์กับองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดผลดีเชื่อมโยงกันกับทุกระดับตั้งแต่ตัวพนักงานเองที่มีความสุข มีแรงจูงใจในการทำงาน มีความภาคภูมิใจที่ในการทำงาน และการร่วมงานในองค์กรที่ดี ระดับหัวหน้างานก็สามารถบริหารจัดการทีม ยกระดับศักยภาพของพนักงานแต่ละคน สร้างความร่วมมือ  และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานได้ง่ายขึ้น ระดับผู้บริหารก็ได้พนักงานที่มีศักยภาพ พร้อมสร้างผลงานที่และลงมือทำให้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง พัฒนาองค์กรให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว เท่าทันกับโลกในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง และสามารถลดต้นทุนแต่สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นให้กับบริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน