Well-being ความคาดหวังสุดฮิตของพนักงานรุ่นใหม่

ปัจจุบันสิ่งที่องค์กรและคนทำงานต้องเจออยู่บ่อยครั้งคือเรื่องของการที่สังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องตามให้เท่าทันกับกระแสของตลาดโลก ทำให้องค์กรต่างๆต้องเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้ได้ ด้านสภาพแวดล้อมที่กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัวของเรามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งการจราจร ฝุ่นควัน หรือแม้แต่สภาพอากาศ ด้านเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำงาน ทำกิจกรรม หรือธุรกรรมต่างๆ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพียงแค่ปลายนิ้ว รวมถึงโรคระบาดที่เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ปัจจัยต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีความเชื่อมโยงกับการทำงานและการใช้ชีวิตของเราโดยตรง

การทำงานในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนมนุษย์มีความสำคัญ เพราะเป็นฟันเฟืองที่บ่งบอกได้ว่าองค์กรจะไปในทิศทางไหน หากพนักงานสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ แน่นอนว่าการพาองค์กรไปสู่เป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้นเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสภาพจิตใจ ด้านสุขภาพของพนักงาน การมี Work Life Balance หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เพราะการที่พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้นส่งผลต่อความผูกพันและความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร และผลลัพธ์ทางด้านประสิทธิภาพการทำงานด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการตัดสินใจร่วมงานของพนักงานใหม่ที่กำลังมองหางานในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วง Gen Z เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าเรื่องของสุขภาวะที่ดีของพนักงานในองค์กรเปรียบเสมือนความท้าทายอีกมุมหนึ่งที่องค์กรต้องหันมาบริหารจัดการอย่างจริงจัง

ผลสำรวจเกี่ยวกับความคาดหวังของพนักงาน และความเป็นอยู่ที่ดี (Well being) ผ่านรายงาน Heartbeat เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เข้าใจถึงความกังวลเกี่ยวกับความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกจากการตอบแบบสอบถามของพนักงานทั่วโลกกว่า 90 ล้านคน พบว่าพนักงานโดยรวมให้ความสำคัญในประเด็น “ความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้น 17% ในทุกกลุ่มประชากร”  โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่เพิ่มขึ้น 28% นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอาการ Burnout ของพนักงานยังอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง 323.4 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

ที่มา : https://www.lhh.com/us/en/organizations/our-insights/employee-expectations-are-changing-here-s-where-employers-need-to-focus

การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วย 3 วิธี

  1. สร้าง Mentoring System หรือพี่เลี้ยงในองค์กร 

พี่เลี้ยงในองค์กร เครื่องมือสำคัญในการดูแลบุคลากรให้ “ได้ทั้งใจและได้ทั้งงาน” โดยผู้ที่เป็นพี่เลี้ยงไม่จำเป็นต้องเป็นระดับหัวหน้างานเสมอไป แต่อาจจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำในการทำงาน สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี สอนงาน แนะนำขั้นตอนการทำงานและติดตามให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการทำงานในยุคใหม่ที่มีการทำงานแบบ Work From Home หรือ Remote Working ซึ่งทุกคนมีระยะห่างระหว่างกัน การมีพี่เลี้ยงจะทำให้สามารถติดตามปัญหาต่างๆทั้งด้านการทำงาน ปัญหาด้านสุขภาพ หรือปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างใกล้ชิด องค์กรอาจมองหาผู้ที่เหมาะสมจะมาเป็นพี่เลี้ยงแล้วพัฒนาต่อยอดด้วยการฝึกทักษะที่จำเป็นต่างๆ เช่น ทัศนคติในการเป็นพี่เลี้ยง การสื่อสาร การให้คำปรึกษา การโค้ช เป็นต้น รวมทั้งการวางโครงสร้างในการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงเพื่อก้าวไปสู่การมีพี่เลี้ยงมืออาชีพ

  • ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย

ยุคนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลายอย่างมาก การที่องค์กรสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน เช่น การใช้ Chat bot ในการให้บริการตอบคำถามที่พบได้บ่อย    ๆ การจัดทำระบบออนไลน์ในการยื่นส่งเอกสาร หรือการทำระบบเพื่อสั่งสินค้าที่พร้อมชำระค่าสินค้าได้อะตโนมัติ เป็นต้น ก็เป็นการลดภาระงานด้าน admin หรืองานเอกสารได้อีกทางหนึ่ง และยังทำให้พนักงานมีเวลาในการทำงานที่มีคุณค่างานสูงกว่า จัดการงานสำคัญอื่น ๆ หรือใช้เวลาไปกับนวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ปรับปรุงงานได้มากขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้นอีกด้วย

  • ปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

การทำงานในยุคปัจจุบันนี้ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น Hybrid Working เป็นรูปแบบการทำงานผสมผสาน ในหนึ่งสัปดาห์มีทั้งทำงานที่ออฟฟิสบวกกับทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมุ่งเน้นโฟกัสที่ผลลัพธ์ของงานมากกว่าวิธีการหรือกฏระเบียบที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมการทำงาน ทำให้หลายองค์กรต้องศึกษาผลกระทบและเริ่มปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การปรับเวลาเข้าออกงานตามเวลาเป็น Flexible time การปรับสถานที่ทำงานเป็น Work Form everywhere การจัดตารางการประชุมเป็น Virtual Meeting เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นจะช่วยให้พนักงานลดเวลาการเดินทางซึ่งหมายถึงลดความเครียดสะสมจากการเจอปัญหาด้านการจราจรแต่ละวันได้มาก ส่วนองค์กรเองก็สามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในสำนักงานได้เช่นกัน

ทั้ง 3 วิธีนี้ ถือเป็นข้อแนะนำเบื้องต้น ที่องค์กรสามารถเริ่มขยับ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้ตอบโจทย์การเรียกร้องของทีมงานรุ่นใหม่ได้ ที่ต้องกาารให้การทำงานต้องสอดคล้องไปกับการใช้ชีวิต โดยยังคำนึงถึงด้านประสิทธิภาพของงานและการบริหารจัดการบุคลากรอย่างเท่าทันกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน