การตั้งเป้าหมายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้พนักงานแต่ละคนรู้ มีทิศทางและมีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย ขององค์กร และทำให้พนักงานแต่ละคนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้จุดมุ่งหมายนั้นสำเร็จ การตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมุ่งไปสู่เป้าประสงค์ของฝ่ายงานและองค์กร
SMART เป็นอีกหนึ่งหลักการที่ได้รับความนิยมในการนำมาตั้งเป้าหมาย ให้กับทีมงานหรือนำมาใช้ในการตั้ง KPI ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ที่นอกจากจะช่วยให้เข้าใจจุดมุ่งหมายที่เด่นชัด มีความชัดเจนแล้ว ยังสามารถวัดผลและคอยประเมินได้ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ใกล้เป้าหมายหรือยัง บทความนี้จะพูดถึงการ ตั้งเป้าหมายด้วยเทคนิค SMART ที่จะทำให้เป้าหมายในทีมมีประสิทธิภาพ มากกว่าเดิม
เทคนิค SMART ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
1. S: Specific เฉพาะเจาะจง
เป้าหมายที่กำหนดต้องมีความชัดเจน มีความเฉพาะเจาะจง ระบุชัดเจนว่าต้องการอะไร เป้าหมายคืออะไร เพื่อให้ทีมงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันในเป้าหมายนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและไม่สับสนในเป้าหมายที่ตั้งไว้
ตัวอย่างเป้าหมาย : ขายสินค้าหมวดอาหารเสริม ให้ได้ xx,000 บาทต่อเดือน / ขายสินค้า ยี่ห้อ “VitZ” ให้ได้ xx,000 บาทต่อเดือน
2. M: Measurable วัดผลได้
การตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพจะต้องตั้งให้สามารถวัดผลได้ มีเกณฑ์ตัดสินที่เป็นรูปธรรม เป็นตัวเลข เพื่อให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้ และเป็นที่ชัดเจนทั้งผู้วัดผล และผู้ถูกวัด
ตัวอย่างเป้าหมาย : ปี 2020 สร้างยอดขายหมวดอาหารเสริมทุกแบรนด์ให้ได้ 5 ล้านบาทต่อปี
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า การตั้งเกณฑ์ที่ชัดเจนด้วยยอด 5 ล้านบาทจะทำให้วัดผล และติดตามได้อย่างชัดเจนมากกว่าการตั้งเพียงว่า “สร้องยอดขายให้ได้เยอะๆ”
3. A: Achievable: เกิดขึ้นได้จริง
เป้าที่ตั้งต้องมั่นใจว่าสามารถเกิดขึ้นได้ บรรลุได้ ตั้งเป้าอย่างสมเหตุสมผล จากทรัพยากรที่มี จากข้อมูลประกอบ ไม่ยากเกินไปจนไม่สามารถทำได้ หรือง่ายเกินจน จนขาดความความท้าทายหรือการพัฒนาศักยภาพ เพราะการตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทายอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาตัวเองของทีมอีกด้วย
ตัวอย่างเป้าหมาย : ในปี 2021 ยอดขายหมวดอาหารเสริมทุกแบรนด์เพิ่มอีก 10% จากปีที่แล้ว (มีข้อมูลสนับสนุนเช่น บริษัทเปิดตัวสินค้าใหม่ มีการขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ)
4. R: Realistic: สอดคล้องกับความเป็นจริง
ในการตั้งเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ต้องคำนึงถึงความเป็นจริง สถานการณ์ความเป็นจริง ว่าองค์กรมีข้อจำกัดอะไรหรือไม่ หรือคุ้มค่าหรือไม่ที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น หากตั้งเป้าหมายที่ไม่สอดคล้อง กับสถานการณ์ก็จะส่งผลให้ทีม ถอดใจไม่ใส่ความพยายามเพราะ รู้ว่าไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ ก็ไม่คิดที่จะลงมือทำ
ตัวอย่างเป้าหมาย: ในปี 2020 เกิดสถานการณ์ Covid-19 และยังมีสถานการณ์แบบนี้ทั่วโลก ในปี 2021 เพิ่มยอดขายหมวดอาหารเสริมทุกแบรนด์เพิ่มอีก 10% จากปีที่แล้ว เพราะกลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมรักษาสุขภาพมากขึ้น)
5. T: Timely: มีช่วงเวลาชัดเจน
การมีกรอบเวลาที่ชัดเจนให้กับเป้าหมายที่ตั้งนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแรงกระตุ้นที่ดี และเพื่อให้งานบรรลุได้อย่างที่ตั้งไว้ควรระบุอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายงานที่ตั้งไว้นั้นต้องสำเร็จเมื่อไร จะมีการวัดผลตอนไหน
ตัวอย่างเป้าหมาย: ทุกไตรมาส ของปี 2021 ยอดขายหมวดอาหารเสริมของทุกแบรนด์เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 3%
การตั้งเป้าหมายมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จขององค์กร หากมีเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ ชัดเจน วัดผลได้ มีความท้าทายอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายนั้นเร็วขึ้น และยังเป็นการพัฒนาความสามารถของทีมอีกด้วย โดยเทคนิค SMART ที่มี 5 ส่วนสำคัญก็จะเป็นเทคนิคที่ช่วยตั้งเป้า หมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น